วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

เครื่องทวนซ้ำสัญญาณ (Repeater)


เครื่องทวนซ้ำสัญญาณ (Repeater)

เครื่องทวนซ้ำสัญญาณ (Repeater) เป็นอุปกรณ์ที่ทำงานอยู่ในระดับ Physical Layer ใน OSI Model มีหน้าที่เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อสำหรับขยายสัญญาณให้กับเครือข่าย เพื่อเพิ่มระยะทางในการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายให้ไกลออกไปได้กว่าปกติ ข้อจำกัดของรีพีตเตอร์คือ ทำหน้าที่ในการส่งต่อสัญญาณที่ได้รับมาเท่านั้น จะไม่มีการติดต่อกับระบบเครือข่าย และไม่รู้จักลักษณะของข้อมูลที่แฝงมากับสัญญาณเลย

การทำงานของRepeater

อุปกรณ์ Repeater ถูกนำมาใช้งานในกรณีที่เครือข่ายนั้นต้องการเพิ่มจำนวนของเครื่องลูกข่ายมากขึ้น แต่ลากสายสัญญาณไม่ได้ เพราะระยะทางจะมากกว่าข้อกำหนดที่ให้ลากสายได้ ยิ่งระยะทางไกลมากสัญญาณที่ถูกส่งออกไปก็จะเริ่มเพี้ยนและจางหายไปในที่สุด อุปกรณ์ Repeater จะช่วยจัดการขยายสัญญาณให้แรงขึ้นและจัดรูปแบบสัญญาณที่เพี้ยนไปให้กลับเหมือนเดิม จากนั้นจึงส่งต่อไปในสายสัญญาณ

ข้อเสียของอุปกรณ์ Repeater ก็คือ ไม่สามารถกลั่นกรองสัญญาณที่ไม่จำเป็น (เช่น ข้อมูลที่ผู้รับอยู่ฝั่งเดียวกับผู้ส่ง จึงไม่จำเป็นต้องขยายและส่งต่อออกไปยังเครือข่ายที่อยู่อีกฟากหนึ่ง) ออกไปได้สัญญาณต่างๆที่เข้ามาก็จะถูกส่งออกไปเหมือนเดิม พูดง่ายๆก็คือ ไม่ว่าจะเป็น packet อะไรส่งออกมาในเครือข่าย Repeater จะไม่สนใจที่หมายปลายทางว่าเป็นเครื่องที่อยู่คนละฟากกันหรือไม่ ถ้ามีสัญญาณมาก็จะส่งต่อไปยังอีกฟากหนึ่งให้เสมอ ดังนั้นถ้ายิ่งมีการเชื่อมต่อเครื่องลูกข่ายจำนวนมากเข้ากับ Repeater ที่มีหลายๆพอร์ต ก็จะมีสัญญาณกระจายไปในเครือข่ายมากขึ้นด้วย ทำให้ประสิทธิภาพของเครือข่ายลดลงได้





วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552


ระบบเครือข่ายระดับท้องถิ่น
ระบบเครือข่าย LAN
ระบบเครือข่ายแบบ LAN หรือระบบเครือข่ายเฉพาะบริเวณ โดยปกติแล้วจะเป็นระบบเครือข่ายส่วนตัว นั่นคือองค์กรที่ต้องการใช้งานเครือข่าย ทำการสร้างเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นระบบเครือข่ายในระยะใกล้ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรและธุรกิจต่าง ๆ มากมาย เช่น
1. สามารถแบ่งเบาการประมวลผลไปยังเครื่องต่าง ๆ เฉลี่ยกันไป
2. สามารถแบ่งกันใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องพิมพ์ ซีดีรอมไดรฟ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นต้น
3. สามารถแบ่งกันใช้งานซอฟต์แวร์และข้อมูลหรือสารสนเทศต่าง ๆ รวมทั้งทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้เพียงที่เดียว
4. สามารถวางแผนหรือทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มได้ แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้กันก็ตาม
5. สามารถใช้ในการติดต่อกัน เช่น ส่งจดหมายทางอิเลคทรอนิคส์ หรือการส่งเสียงหรือภาพทางอิเลคทรอนิคส์ เป็นต้น
6. ช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยรวมขององค์กร
โครงสร้างของระบบเครือข่าย (Network Topology) แบบ LAN
--โครงสร้างแบบดาว (Star Topology)
-- โครงสร้างแบบบัส (Bus Topology)

--โครงสร้างแบบแหวน (Ring Topology)



ระบบเครือข่ายระดับเมือง

ระบบเครือข่ายระดับเมือง (Metropolitan Area Network : MAN) หมายถึง การเชื่อมต่อ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นเครือข่ายขนาดกลาง ที่มีระยะทางการเชื่อมต่อไกลกว่า ระบบเครือข่ายท้องถิ่น (LAN) แต่ระยะทางยังคงใกล้กว่าระบบ WAN (Wide Area Network) ได้แก่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมต่อกันภายในเมืองเดียวกันหรือจังหวัดเดียวกัน ในเขตเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เคเบิลทีวี

ระบบเครือข่ายระดับประเทศ

ระบบเครือข่าย WAN
ระบบเครือข่ายแบบ WAN หรือระบบเครือข่ายระยะไกล จะเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงเครือข่ายแบบท้องถิ่นตั้งแต่ 2 เครือข่ายขึ้นไปเข้าด้วยกันผ่านระยะทางที่ไกลมาก โดยการเชื่อมโยงจะผ่านช่องทางการสื่อสารข้อมูลสาธารณะของบริษัทโทรศัพท์ หรือองค์การโทรศัพท์ของประเทศต่าง ๆ เช่น สายโทรศัพท์แบบอนาลอก สายแบบดิจิตอล ดาวเทียม ไมโครเวฟ เป็นต้น
ประเภทของเครือข่ายระยะไกล
เครือข่าย WAN สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
1. เครือข่ายส่วนตัว (Private Network) เป็นการจัดตั้งระบบเครือข่ายซึ่งมีการใช้งานเฉพาะองค์กรที่เป็นเจ้าของเครือข่ายอยู่ เช่น องค์กรที่มีสาขาอาจทำการสร้างระบบเครือข่าย เพื่อเชื่อมต่อระหว่างสำนักงานใหญ่กับสาขาที่มีอยู่ เป็นต้น อย่างไรก็ดีในระดับกายภาพ (Physical Layer) ของการเชื่อมต่อแบบเครือข่ายส่วนตัวจะยังคงต้องใช้ช่องทางการสื่อสารข้อมูลสาธารณะ เช่น สายโทรศัพท์ สายเช่า ดาวเทียม เป็นต้น (เนื่องจากข้อกำหนดของประเทศต่างๆ โดยปกติแล้วจะไม่อนุญาตให้วางเครือข่ายเองได้) การจัดตั้งระบบเครือข่ายส่วนตัวมีจุดเด่นในเรื่องของการรักษาความลับของข้อมูล สามารถควบคุมดูแลเครือข่ายและขยายเครือข่ายไปยังจุดที่ต้องการ ส่วนข้อเสียคือในกรณีที่ไม่ได้มีการส่งข้อมูลต่อเนื่องตลอดเวลา จะเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเมื่อเทียบกับการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสาธารณะและหากมีการส่งข้อมูลระหว่างสาขาต่างๆ จะต้องมีการจัดหาช่องทางสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างแต่ละสาขาด้วย รวมทั้งอาจไม่สามารถจัดช่องทางการสื่อสารไปยังพื้นที่ที่ต้องการได้
2. เครือข่ายสาธารณะ (Public Data Network) เครือข่ายสาธารณะ (PDNs) หรือที่บางครั้งเรียกว่าเครือข่ายมูลค่าเพิ่ม (Value Added Network) เป็นระบบเครือข่ายระยะไกล (WAN) ซึ่งองค์กรที่ได้รับสัมปทานทำการจัดตั้งขึ้น เพื่อให้บุคคลทั่วไปหรือองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ต้องการวางเครือข่ายเองสามารถแบ่งกันเช่าใช้งานได้ โดยการจัดตั้งอาจทำการวางโครงข่ายช่องทางการสื่อสารเอง หรือเช่าใช้ช่องทางการสื่อสารสาธารณะก็ได้ ระบบเครือข่ายสาธารณะจะนิยมใช้ในการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายแบบ WAN กันมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการจัดตั้งเครือข่ายส่วนตัว สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาในการจัดตั้งเครือข่ายใหม่ รวมทั้งมีบริการให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งแตกต่างกันไปทั้งในส่วนของราคา ความเร็ว ขอบเขตพื้นที่บริการ และความเหมาะสมกับงานแบบต่างๆ
เครือข่าย Wan จะประกอบไปด้วยส่วนต่าง ๆ 4 ส่วนคือ
1. ส่วนแรก ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ต่อเชื่อม Lan เข้าด้วยกัน เช่น Bridge หรือ Router
2. ส่วนที่สอง คืออุปกรณ์ช่วยในการต่อเข้าสู่เครือข่าย Wan เป็นตัว Gateway เช่น โมเด็มในกรณีใช้บริการผ่านบริการผ่าน เครือข่ายโทรศัพท์หรือ Terminal Adapter ในกรณีใช้บริการ ISDN
3. ส่วนที่สาม ได้แก่ สื่อสัญญาณหรือ Media เช่น สายโทรศัพท์ คลื่นวิทยุ ฯลฯ
4. ส่วนที่สี่ คือ ส่วนของการบริการ Wan หมายถึง เครือข่ายของผู้ให้บริการในการเชื่อมต่อระยะไกล ๆ เช่น องค์กรโทรศัพท์ หรือการสื่อสาร (รวมทั้งผู้รับสัมปทานจากจากทั้งสองหน่วยงาน เช่น DataNet เป็นต้น


ระบบเครือข่ายแบบเท่าเทียม

(peer to peer Network)

ระบบเครือข่ายแบบ Peer to peer
ระบบเครือข่าย Peer-to-Peer คือ รูปแบบของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในความหมายที่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดบนเครือข่าย คือ Peer (ท่า) ที่มีความเท่าเทียมกัน โดยที่เครื่องแต่ละเครื่องหรือเครื่องทั้งหมดในเครือข่ายสามารถที่จะเป็นทรัพยากรของระบบ และมีหน้าที่จัดเตรียมไฟล์ เครื่องพิมพ์ หรือแม้แต่เป็นที่เก็บข้อมูลให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ในขณะเดียวกันเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดนี้จะต้องมีขีดความสามารถในการทำงานได้ด้วยตนเอง โดยมีทรัพยากรอยู่ภายในเครื่อง เช่น ดิสต์สำหรับเก็บข้อมูล มีหน่วยความจำและหน่วยประมวลผลที่เพียงพอ เพื่อทำให้เครื่องสามารถทำงานได้อย่างอิสระ (Stand alone) ได้ ตัวอย่างระบบปฏิบัติการที่สนับสนุนเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ได้แก่ Windows Workstation ระบบเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer มีความง่ายในการจัดตั้ง ราคาถูก และสะดวกต่อการบริหารจัดการ ข้อเสียของระบบนี้คือ การถูกจำกัดด้วยขนาด และไม่มีการออกแบบในเรื่องการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ผู้ใช้แต่ละรายต้องรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยและบริหารจัดการเครื่องของตนเอง
BitTorrent เป็นเทคโนโลยี peer-to-peer หนึ่งที่ช่วยให้สมาชิกผู้ใช้ไคลเอ็นต์สามารถแบ่งปันไฟล์ขนาดใหญ่ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างสะดวกง่ายดาย ซึ่งทำให้มีผู้ใช้นิยมแบ่งปันไฟล์วิดีโอของภาพยนต์ตลอดจนไฟล์เพลงผ่านเครือข่ายของ BitTorrent เป็นจำนวนมากจนเกิดเป็นคดีละเมิดฯ ในช่วงที่ผ่านมา

ระบบเครือข่ายแบบพึ่งเครื่องบริการ

Client/Server

ระบบเครือข่ายแบบ Client/Server เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และมีการใช้กันอย่างกว้างขวางมากกว่าระบบเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer เนื่องจากสนับสนุนให้มีลูกข่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังสามารถเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ได้หลายแพลตฟอร์ม(Platform) ระบบนี้สร้างขึ้นโดยมีเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เป็นศูนย์กลางจำนวน 1 เครื่องหรือมากกว่า เช่นเดียวกับระบบเครือข่ายแบบรวมศูนย์กลางคือมีการบริหารจัดการจากส่วนกลาง แต่ต่างกันตรงที่ระบบเครือข่าย Client/Server คือจะใช้เครื่องที่เป็นศูนย์กลางที่มีสมรรถนะน้อยกว่าแบบรวมศูนย์ เนื่องจากเครื่องลูกข่ายสามารถประมวลผลและมีพื้นที่จัดเก็บ

ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

อินเทอร์เน็ต (Internet) มาจากคำว่า Inter Connection Network ซึ่งก็คือ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมทั้งโลก มีคอมพิวเตอร์นับสิบล้านเครื่อง ต่อโยงถึงกัน เสมือนใยแมงมุม โดยใช้ โปรโตคอล (Protocol) หรือ มาตรฐานในการรับส่งข้อมูล ภาพ เสียง ที่มีชื่อว่า ทีซีพี/ไอพี (TCP/IP : Transmission Control Protocol / Internet Protocol) ซึ่งสามารถเลือก เส้นทางในการติดต่อ ได้หลายๆ เส้นทาง หรือจะเรียกได้ว่า เป็นการสื่อสารแบบไร้มิติ ไซเบอร์เสปซ (CyberSpace)

ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต
1. เป็นแหล่งข้อมูลที่ลึก และกว้าง เพราะข้อมูลถูกสร้างได้ง่าย แม้นักเรียน หรือผู้สูงอายุก็สร้างได้
2. เป็นแหล่งรับ หรือส่งข่าวสาร ได้หลายรูปแบบ เช่น mail, board, icq, irc, sms หรือ web เป็นต้น
3. เป็นแหล่งให้ความบันเทิง เช่น เกม ภาพยนตร์ ข่าว หรือห้องสะสมภาพ เป็นต้น
4. เป็นช่องทางสำหรับทำธุรกิจ สะดวกทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย เช่น e-commerce หรือบริการโอนเงิน เป็นต้น
5. ใช้แทน หรือเสริมสื่อที่ใช้ติดต่อสื่อสาร ในปัจจุบัน โดยเสียค่าใช้จ่าย และเวลาที่ลดลง
6. เป็นช่องทางสำหรับประชาสัมพันธ์สินค้า บริการ หรือองค์กร


ระบบเครือข่ายอินทราเน็ต

อินทราเน็ต(Intranet) คือ ระบบเครือข่ายภายในองค์กร เป็นบริการ และการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เหมือนกันอินเทอร์เน็ต แต่จะเปิดให้ใช้เฉพาะสมาชิกในองค์กรเท่านั้น เช่น อินทราเน็ตของธนาคารแต่ละแห่ง หรือระบบเครือข่ายมหาดไทย ที่เชื่อมศาลากลางทั่วประเทศ เป็นต้น เป็นการสร้างระบบบริการข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเปิดบริการคล้ายกับอินเทอร์เน็ตเกือบทุกอย่าง แต่ยอมให้เข้าถึงได้เฉพาะคนในองค์กรเท่านั้น เป็นการจำกัดขอบเขตการใช้งาน ดังนั้นระบบอินเทอร์เน็ตในองค์กร ก็คือ "อินทราเน็ต" นั่นเอง แต่ในช่วงที่ชื่อนี้ยังไม่เป็นที่นิยม ระบบอินทราเน็ต ถูกเรียกในหลายชื่อ เช่น Campus network, Local internet, Enterprise network เป็นต้น
ประโยชน์ของการนำอินทราเน็ตเข้ามาประยุกต์ใช้ คือ
1. การสื่อสารเป็นแบบสากล ผู้ใช้ระบบอินทราเน็ตสามารถส่งข่าวสารในรูปของ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมาตรฐานสากลระหว่างผู้ร่วมงานภายในหน่วยงานและผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งอยู่ภายนอกหน่วยงานได้
2. อินทราเน็ตใช้มาตรฐานเครือข่าย และโปรแกรมประยุกต์ได้เช่นเดียวกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีใช้อย่างแพร่หลาย และผ่านการยอมรับให้เป็นมาตรฐานตามความนิยมไปโดยปริยาย โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้เลือกใช้ได้หลากหลาย
3. การลงทุนต่ำ ด้วยความต้องการด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คล้ายคลึงกับที่ใช้ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกมากมายและราคาต่ำ จึงทำให้ค่าใช้จ่ายการวางระบบเครือข่ายต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนกับระบบอื่น ๆ

4. ความน่าเชื่อถือ เทคโนโลยีที่ใช้นั้นได้ผ่านการทดลองใช้และปรับปรุง จนกระทั่งอยู่ในสถานภาพที่มีความเชื่อถือได้สูง
5. สมรรถนะ สามารถสื่อสารข้อมูลรองรับการส่งข้อมูลที่ประกอบด้วย ข้อความ ภาพและเสียงได้


ระบบเครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ต

เอ็กซ์ทราเน็ต (Extranet) หรือเครือข่ายภายนอกองค์กร ก็คือระบบเครือข่ายซึ่งเชื่อมเครือข่ายภายในองค์กร (INTRANET) เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายนอกองค์กร เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ของสาขาของผู้จัดจำหน่าย หรือของลูกค้า เป็นต้น โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายอาจเป็นได้ทั้งการเชื่อมต่อโดยตรง (Direct Link) ระหว่าง 2 จุด หรือการเชื่อมต่อแบบเครือข่ายเสมือน (Virtual Network) ระหว่างระบบเครือข่าย Intranet จำนวนหลายๆ เครือข่ายผ่านอินเทอร์เน็ตก็ได้
ระบบเครือข่ายแบบเอ็กซ์ทราเน็ต โดยปกติแล้วจะอนุญาตให้ใช้งานเฉพาะสมาชิกขององค์กร หรือผู้ที่ได้รับสิทธิในการใช้งานเท่านั้น โดยผู้ใช้จากภายนอกที่เชื่อมต่อเข้ามาผ่านเครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ต อาจถูกแบ่งเป็นประเภทๆ เช่น ผู้ดูแลระบบ สมาชิก คู่ค้า หรือผู้สนใจทั่วๆ ไป เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้แต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิในการเข้าใช้งานเครือข่ายที่แตกต่างกันไป
เครือข่ายเอ็กซ์ทราเน็ตเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากแนวโน้มการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เริ่มมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การเปิดร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต หรือการเปิดบริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้จะต้องมีการเชื่อมต่อกับบุคคลและเครือข่ายภายนอกองค์กรจำนวนมาก จึงต้องมีระบบการจัดการการเชื่อมต่อเครือข่ายภายนอกที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่ดี